วันพุธที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2557

การเป็นอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดแพร่แสงเทียน (เมษายน2556) เล่าสู่ฟังโดย ครูกิ๊ม

การเป็นอยู่ปฏิบัติธรรมที่วัดแพร่แสงเทียน (เมษายน2556) เล่าสู่ฟังโดย ครูกิ๊ม




เมื่อช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา ( เมษายน 2556 )ได้มีโอกาสไปปฏิบัติธรรมที่ วัดแพร่แสงเทียน ที่ จ.แพร่ มา รู้สึกถูกใจจัง เป็นวัดในอุดมคติที่อยากให้เป็น ก็อยากบอกเล่าความเป็นอยู่มี่นั่นให้ฟังว่าเป็นยังไง เพื่อเป็นข้อมูลในการเดินทางไปปฏิบัติกันต่อไปนะคะ

การเดินทาง  ถ้าเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ระยะทางจาก กทม ไปแพร่ก็ประมาณ หกร้อยกว่าโล ใช้เวลาขับไปเรื่อยๆก็ ประมาณ 8-10 ชั่วโมง โดยวิ่งสายเอเซีย ตรงไปเรื่อยๆ จากทางหลวงเบอร์ 1 อยุธยา  สิงห์บุรี ชัยนาท นครสวรรค์ แล้วก็เป็นทางหลวงเบอร์ 11 ไปเรื่อยๆ ผ่านพิษณุโลก เด่นชัย อุตรดิตถ์ มุ่งหน้าไปแพร่ จะมีทางแยก ซ้ายไปลำปาง ขวาไป แพร่ ไปสูงเม่น ก็เลี้ยวขวาไป ก็จะเป็น เส้นทางหลวง 101 แล้วมั้ง จากแพร่ก็ไปเรื่อยๆมุ่งหน้าไปน่าน เพราะวัดแพร่ฯจะเลยตัวเมืองแพร่ไปอีก คืออยู่ อ.ร้องกวาง ( ประมาณ 30 โล  จากแพร่ )  ซึ่งติดกับ จ. น่านค่ะ พอถึงหน้า  โรงเรียนร้องกวาง (จันทิมาดาราม) ก็เลี้ยว ซ้ายเข้าซอยข้างๆโรงเรียนนั่นเลย สังเกตจะมีตลาดสด (ขายตอนเย็น) อยู่ปากซอย ตรงเข้าไปประมาณ ไม่ไกลมาก  7-8 โลมั๊งค่ะ ก็สังเกตทางซ้ายมือจะมีป้ายวัดใหญ่โตเห็นชัด เลี้ยวเข้าประตูวัดได้เลย
          การเดินทางโดยรถทัวร์ เนื่องจากที่ตั้งของวัดตั้งอยู่ตรงทางแยกของถนน  ถ้าขับมาจากตัวเมืองแพร่ถึงสี่แยกร้องกวาง เลี้ยวซ้ายจะไปเชียงราย ตรงไปจะไปน่าน ดังนั้นเราจึงสามารถขึ้นรถทัวร์ได้ทั้งที่ไปสุดสายที่เชียงราย หรือสุดสายที่น่านก็ได้
        ถ้าเดินทางโดยรถโดยสารก็มีทั้งรถกลางวันและรถกลางคืน ถ้าขึ้นรถ กรุงเทพฯ – น่าน แล้วก็ลงหน้าโรงเรียนร้องกวางนั่นแหละค่ะ หรือบอกรถทัวร์ว่าลงที่หน้าเซเว่นร้องกวาง  แล้วก็เรียกสามล้อแถวนั้นขับพาเข้าไป ที่วัดเรียกให้ใช้กันประจำก็คือ รถสองแถวเล็กของลุงนัด เบอร์โทร 085-625-4801 ค่าโดยสารคิดต่อเที่ยว(กี่คนก็ได้)  100 บาท  รถทัวร์มีหลายบริษัทที่ไปน่าน เช่น บขส  วิริยะทัวร์ บุษราคัมทัวร์ สมบัติทัวร์ ฯลฯ ขากลับก็บอกกับทางวัดว่าจะกลับวันไหนอย่างไร ทางวัดก็จะช่วยจองตั๋วรถทัวร์ให้ได้
        หรือถ้าเดินทางโดยรถสาย กรุงเทพฯ – เชียงราย ก็ลงที่หน้าโรงเรียนแม่ยางเปรี้ยว แล้วก็เรียกรถสองแถวเล็กของลุงนัทเจ้าเดิมขับพาไปวัด ค่ารถ 100 บาทต่อเที่ยวเช่นเดียวกัน
        หรือทั้ง 2 สายรถประจำทางเมื่อถึงจุดลงแล้ว ถ้าตกหล่นยังไงก็โทรเรียกทางวัดมารับก็ได้ค่ะ เป็นเบอร์ของคุณป้าพิกุล นะค่ะ เบอร์โทร 087-180-2976  (รายละเอียดของวัดทุกอย่างติดต่อได้ที่เบอร์นี้เลยค่ะ)

ความเป็นอยู่ในแต่ละวัน 
เช้า ตี 3 ระฆังปลุกตื่น ทำธุระส่วนตัวเสร็จแล้วให้รีบมาที่ศาลาเพื่อมานั่งสร้างจังหวะร่วมกันไปจนถึงตี 4 ก็เริ่มทำวัตรเช้า   การสวดมนต์ ใช้การสวดมนต์แปล แล้วก็มีการสวดพระสูตรที่สำคัญๆที่ควรรู้ด้วย เสร็จแล้วพระอาจารย์ก็จะพูดถึงเรื่องความรู้สึกตัว ปัญหาการปฏิบัติ ความสำคัญต่อการปฏิบัติ ฯลฯ (หลังทำวัตรสวดมนต์เช้า เย็น) เสร็จแล้วก็สร้างจังหวะร่วมกันไปตลอดในศาลา
จนถึงประมาณ 6 โมงเช้า  ก็ออกจากศาลามารับประทานอาหารว่างมื้อเบาๆก็จะเป็นพวกขนมที่ทานแล้วอิ่มบ้างเช่น ขนมปัง ฟักทองต้ม ข้าวโพดคลุก ขนมต้ม ขนมเทียน ข้าวต้มมัด ฯลฯ และเครื่องดื่มร้อน เช่น น้ำข้าวโพด น้ำเผือก น้ำฟักทอง โอวัลติล ฯลฯ  เสร็จแล้วเก็บล้างและทำความสะอาดบริเวณวัดร่วมกัน
เมื่อทำความสะอาดเสร็จแล้ว(ประมาณ 8.00 ) ก็ให้รีบไปเข้าที่ปฎิบัติทันทีโดยจะแยกชาย หญิง หญิงก็จะอยู่ฝั่งทางด้านครัวดูแลการปฎิบัติโดยคณป้าพิกุลซึ่งจะส่งครูพี่เลี้ยงมาช่วยดูแลการปฎิบัติด้วย ส่วนผู้ชายก็จะไปปฎิบัติร่วมกันที่ฝั่งพระด้านหลังศาลาหรือในศาลาดูแลการปฎิบัติโดยพระอาจารย์
พอสักประมาณ 10 โมงเช้าก็เป็นเวลาอาหารมื้อหลัก ซึ่งเป็นอาหารที่ดีต่อสุขภาพมากๆเพราะปลอดสารพิษใช้ผักที่ปลูกเองในแปลงข้างๆครัวนั่นเอง อาหารเหมือนภาคกลางของเราๆ รสชาดอาหารก็กลางๆไม่เผ็ดมากเกินไป มีทั้งข้าวขาว ข้าวกล้อง ข้าวเหนียว นมกล่อง นมเปรี้ยว ผักสด ผลไม้ ฯลฯ  อาหารดีมากๆค่ะถึงแม้จะทานมื้อเดียวแต่มีคุณค่ามากๆ มาที่นี่คุณป้าพิกุลบอกว่าไม่มีใครบ่นหิว มีแต่บ่นว่าทานมากเกินไป อิ่มจุกกันไปตามๆกันค่ะ  การทานอาหาร ก็โดยตักมาทานร่วมกันที่ศาลา ทานอาหารเสร็จ ก็ช่วยกันล้างจานชามส่วนกลางกัน ทานข้าวเสร็จแล้วก็เข้าที่ปฏิบัติ




จนถึงเวลา 17.00 น ออกมารับน้ำปานะ(บางทีเป็นปานะข้น-น้ำข้าวโพด ฯลฯ บางทีเป็นเป็นปานะใส-น้ำกระเจี๊ยบ ฯลฯ) แล้วอาบน้ำซึ่งอาบได้เพียง 1 ครั้งเท่านั้นคือตอนเย็นนี้เอง เนื่องจากวัดขาดแคลนน้ำต้องซื้อน้ำมาใช้จึงห้ามซักผ้าด้วย ซักได้แต่ชุดชั้นในเท่านั้น นอกนั้นให้ไปจ้างชาวบ้านซัก ที่จะมีชาวบ้านมาเก็บไปซักส่งซักได้ตอนเช้าก่อน 7 โมงเช้า โดยวางรวมกันที่ห้องลงทะเบียนนั่นแหละค่ะ ใส่ถุงกอบแก๊บเขียนชื่อไว้ที่ถุง พอเย็นเค้าก็จะเอาส่งให้ตอน 5 โมงเย็นตอนที่เราออกมาทานปานะกัน ราคาชิ้นละ 5 บาท รวมไปถึงผ้าห่มที่วัดให้เราใช้ด้วยเมื่อจะกลับก็ส่งซักแล้วจ่ายเงินค่าซักเอาไว้ ราคาค่าผ้านวมผืนใหญ่ 30 บาท ผ้าห่มผืนเล็กหน่อยก็ 20 บาท  เรื่องนี้พระอาจารย์บอกว่าช่วยลดภาระเรื่องการจัดสรรน้ำของวัดไปได้มาก และช่วยในการปฎิบัติด้วยเพราะเราจะได้ไม่ต้องมีภาระการซักและตากผ้า เก็บผ้า
 พอ 6 โมงเย็นก็จะตีระฆัง ให้รีบมาเข้าศาลานั่งสร้างจังหวะร่วมกันไปจนถึง 1 ทุ่ม เริ่มทำวัตรเย็นที่ศาลา เสร็จแล้วก็ฟังพระอาจารย์บรรยายเรื่องการปฏิบัติ  แล้วสร้างจังหวะร่วมกันไปจนถึง 20.30 น จะเป็นอย่างนี้ทุกวัน




การเข้าปฏิบัติ
 จะต้องมาตามช่วงที่ทางวัดจัดอบรมเท่านั้น คือ ทุกวันที่ 1-11 ของทุกเดือน ยกเว้นวัดหยุดยาวๆทางวัดก็จะอนุญาตให้เป็นพิเศษถ้าตั้งใจมาปฏิบัติจริงๆ และต้องอยู่ปฏิบัติอย่างน้อยที่สุด 7 วัน  ในช่วงวันที่ 1-11 ถ้ามาไม่ได้ตลอดช่วงก็เลือกวันที่จะมาและกลับได้ในช่วงนั้นที่รวมวันปฎิบัติแล้วต้องได้ 7 วัน เช่น สามารถเริ่มเข้าอบรมวันที่ 3 ได้แล้วกลับวันที่ 10  เข้าวันที่ 4 แล้วกลับ 11 แต่จะดีกว่าถ้าเริ่มเข้าอบรมวันแรกๆ เพราะพระอาจารย์ท่านจะสอนวิธีปฎิบัติอย่างละเอียดในวันแรกๆ
ในกรณีที่มาพักผ่อนมาไม่ปฏิบัติมาฟังเทศน์ฟังธรรมเฉยๆ หรืออยู่ปฏิบัติไม่ครบ 7 วัน ถ้าอยากมาทางวัดก็มีที่พักเอกชนอยู่ในบริเวณเดียวกันชื่อ เฮือนพักศีล 5 คืนละ 300 บาทต่อห้อง แล้วแต่จะพักกันกี่คน




การแต่งกาย   

สตรีใส่เสื้อสีขาว นุ่งผ้าถุงขาว ผู้ชาย เสื้อขาว กางเกงขาว ถ้าไม่ได้เตรียมมาทางวัดมีจำหน่ายทุกอย่าง  ในระยะหลังนี้ทางวัดอนุญาตให้ผู้หญิงใส่ผ้าถุงสีเข้มได้ด้วย เช่นสีดำ น้ำตาล




กฎระเบียบของวัด 

ตามแนบนะค่ะ สรุปคือ พระจะไม่ขอรับถวาย เงิน ทอง เนื้อดิบ รูปผู้หญิง และผู้หญิงจะเข้าปรึกษาปัญหาหารปฏิบัติกับพระที่ศาลาจะต้องไปด้วยกันอย่างน้อย 2-3 คนไม่ให้พูดคุย 2 ต่อสอง ผู้ปฏิบัติห้ามพูดคุยกันเองโดยไม่จำเป็น ใครมีอะไรยังงัยให้ถามที่ทีมงานในครัว ไม่รับถังสังฆทานเพราะจะเป็นภาระต่อพระและคนที่อยู่ในการจัดเก็บ จะบริจาคเงินก็ให้ไว้ที่คุณป้าพิกุล ถ้าจะขอใบอนุโมทนาก็ขอรับที่คุณป้าได้เลย
เมื่อไปถึงวัดแล้วก็ลงทะเบียนเข้าอบรมกับทางวัด แล้วเอามือถือให้วัดเก็บไว้จนวันจะกลับจึงจะให้คืนค่ะ
สอบถามเพิ่มเติมทุกเรื่องได้ที่คุณป้าพิกุล  087-180-2976
วัตรปฏิบัติ
๐๓.๐๐ น. ระฆังปลุก
๐๔.๐๐ น. ทำวัตรเช้า
๐๖.๐๐ น. อาหารเช้า
๐๗.๐๐ น. กิจกรรมทำความสะอาด
๑๐.๐๐ น. อาหารมื้อหลัก
๑๗.๐๐ น. รับน้ำปานะ อาบน้ำ
๑๘.๐๐ น. ทำวัตรเย็น ฟังธรรม
๒๑.๐๐ น. พักผ่อน